สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คมวาทะพระอาจารย์

คมวาทะพระอาจารย์

คมวาทะพระอาจารย์



อย่าอยู่ด้วยความหวัง แต่อยู่ด้วยสติปัญญา สติปัญญารู้ว่า ควรทำอะไรก็ทำ
อย่าไปหวัง ทำให้มันถูกต้อง ผลมันมาเอง ไม่ต้องหวังให้มันกัดหัวใจ
หวังเมื่อไหร่ มันกัดหัวใจเมื่อนั้น

ท่านพุทธทาสภิกขุ







สิ่งที่ล่วงไปแล้วไม่ควรไปทำความผูกพัน เพราะเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง
แม้ทำความผูกพันและมั่นใจในสิ่งนั้น กลับมาปัจจุบันก็เป็นไปไม่ได้
ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้นเป็นทุกข์แต่ผู้เดียว โดยไม่มีความสมหวังตลอดไป
อนาคตที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดเหนี่ยวเช่นกัน
อดีตควรปล่อยไว้ตามอดีต อนาคตควรปล่อยไว้ตามกาลของมัน
ปัจจุบันเท่านั้นที่สำเร็จเป็นประโยชน์ได้ เพราะอยู่ในฐานะที่ทำได้ไม่สุดวิสัย

หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ







การปฎิบัติ สำคัญที่การรวมจิตเป็นใหญ่ เพราะพื้นฐานแห่งความดี ความชั่วย่อมเกิดที่จิต
ถ้าจิตตัวนี้ปราศจากสติ เป็นเครื่องคุ้มครองหรือประคับประคองเมื่อใด
เมื่อนั้นดวงจิตดวงนี้ก็จะต้องมีความเผลอไปนึกสร้างบาปกรรมใส่ตัวเลย
เพราะฉะนั้นการอบรมจิตให้มีสติ จึงเป็นสิ่งจำเป็น
ความทุกข์ทั้งหลายเกิดจากกิเลส โลภะ ราคะ โทสะ โมหะ
ถ้าต้องการมีความสุข ต้องกำจัดกิเลสของตน กิเลสในใจตนเอง
ไม่ใช่ไปตั้งหน้ากำจัดคนอื่น

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย







การปฎิบัติธรรมนั้นไม่มีโทษ มีแต่คุณ คือจิตไม่ขุ่นมัว จิตผ่องใส จิตเบิกบาน
จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ก็มีความสุข ไม่มีทุกข์
จะเข้าสู่สังคมใดๆ ก็องอาจหาญกล้า
การทำความเพียร เมื่อสมาธิมีขึ้นแล้วจะไม่มีความหวั่นไหว
ไม่มีความเกียจคร้านต่อการงาน ทั้งทางโลกและทางธรรม
จากนั้นก็จะเป็นปัญญาที่จะมาเป็นกำลัง
เมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้วรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์
จะเรียนทางโลกก็สำเร็จ จะเรียนทางธรรมก็สำเร็จ
พระพุทธเจ้าท่านสั่งสอนอบรมให้เกิด ให้มีขึ้นมาเบื้องต้นตั้งแต่ศีล
ศีลเป็นที่ตั้งของสมาธิ สมาธิเป็นที่ตั้งของปัญญา
ไม่ว่าศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางมาแห่งวิมุตติ คือความหลุดพ้นด้วยกัน

หลวงปู่ขาว อนาลโย







ใจ คือผู้ที่อยู่เฉยๆ และรู้ตัวว่าเฉย ไม่คิด ไม่นึก อันนั้นแหละเรียกว่าใจ
จิต คือผู้ที่คิดนึก มันคิด มันนึก มันปรุง มันแต่ง สัญญา อารมณ์ทั้งปวงหมด อันนั้นเรียกว่าจิต
เรื่องเรียนพระพุทธศาสนา ไม่ต้องเรียนอื่นไกล เรียนเข้ามาหาใจเสียก่อน
แล้วหมดเรื่องพระพุทธเจ้าทรงสอนสาวกทั้งหลาย ก็สอนถึงใจทั้งนั้น
ถึงที่สุดก็คือใจ เรียกว่า พระศาสดาสอนถึงที่สุดก็คือใจ เท่านั้น
แต่เรายังทำไม่ถึง เราจะต้องพยายามฝึกหัดอบรมใจของตนนี้ ให้มันถึงที่สุด
มันจึงจะเข้าถึงที่สุดของพระพุทธศาสนา หมดพุทธศาสนาได้
ผู้ใดทำใจให้เป็นกลาง ผู้นั้นจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


 



ให้พิจารณาความตาย
นั่งก็ตาย นอนก็ตาย ยืนก็ตาย เดินก็ตาย.

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม


 

 

ที่มา :เนระพูสี_บล็อกแก็ง

view